9 เทคนิคสำคัญกับการทำบัตเตอร์เค้ก จากที่หลายคนอาจจะได้ทำบัตเตอร์เค้กกันมาหลายครั้ง และมีทั้งครั้งที่ดีและที่ผิดพลาด หลายคนเก่งทำบัตเตอร์เค้กกว่าทรายด้วยซ้ำ ซึ่งในตอนนี้ของบทความทรายได้รวบรวมเทคนิค 9 อย่าง มาแบ่งปันทุกคนนะคะ
เทคนิคการอบเค้กเนย
เทคนิคที่ 1 การชั่งตวงส่วนผสม
- สิ่งที่ต้องระวัง คือ การตวงผงฟู ถ้าเผลอตวงพลาดไปโอเคขึ้นฟูดีมากก็จริง แต่สิ่งทีไ่ด้หลังอบคือ เนื้อเค้กหยาบ เพราะส่วนผสมเมื่อโดนความร้อนในเตาอบแล้วขึ้นฟู อากาศมากขึ้นก็ทำให้เค้กล้ม และนอกจากนั้นยังได้ความเฝื่อนติดปลายลิ้นมาด้วย ต้องระวังนะคะ ยังมีเรื่องของการร่อนแป้งก่อนทำเค้กก็สำคัญ เพื่อให้แป้งฟูเบา และไม่จับตัวเป็นก้อน
เทคนิคที่ 2 การตีเนยสด
- การตีเนยสดให้ขี้นฟู ต้องใช้เนยที่แช่เย็น และก่อนใช้ให้วางที่อุณหภูมิห้องทิ้งให้อ่อนตัวเล็กน้อยก่อนนำมาตี หรือจะหั่นเนยเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะช่วยให้ตีขึ้นฟูเบา เพราะถ้าเนยเหลวเกินไป เวลาตีก็จะไม่ขึ้นฟู และจะต้องไม่ตีส่วนผสมนานจนเนยเหลวเกินไปนะคะ เพราะเดี๋ยวจะไปผสมในขั้นตอนต่อไปยากขึ้น
เทคนิคที่ 3 การใช้ไข่ไก่
- ไข่ไก่ที่นำมาใช้ต้องใช้ไข่ไก่แช่เย็น และการใส่ไข่ให้ใส่ลงไปทีละฟอง จนส่วนผสมเข้ากันแต่ต้องไม่ตีนาน เพราะส่วนผสมจะแยกชั้นได้ และเป็นที่มาของเนื้อเค้กเป็นไตที่ก้นพิมพ์ (แต่การใช้ไข่ไก่แช่เย็นนั้น จะเหมาะกับการทำขนมอบบางเมนูเท่านั้น บางเมนูก็ไม่เหมาะที่จะใช้ไข่ไก่แช่เย็น เพราะเกี่ยวข้องกับการตีขึ้นฟูของส่วนผสม)
เทคนิคที่ 4 ช่วงสุดท้ายของการผสมบัตเตอร์เค้ก
- คือ การใส่แป้งสลับกับของเหลว ให้เราตีส่วนผสมขั้นตอนนี้โดยใช้เวลาระยะสั้น ๆ เพราะถ้าผสมนานเนื้อเค้กจะเหนียว เนื้อแน่น และหน้าเค้กแตก หรือแค่ผสมพอเข้ากัน สุดท้ายใช้พายยางตะล่อมส่วนผสมด้านข้างกับก้นอ่างผสม ให้ส่วนผสมเข้ากันอีกครั้งก่อนเทลงพิมพ์อบ
เทคนิคที่ 5 การเตรียมพิมพ์อบเค้ก
- สำหรับบัตเตอร์เค้กต้องทาเนยขาวให้ทั่วพิมพ์ด้านใน วางกระดาษไขรองอบ จะโรยแป้งบาง ๆ ให้ทั่วพิมพ์ หรือใช้กระดาษรองด้านข้างพิมพ์ก็ได้ คือต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเทส่วนผสม เพื่อที่เวลาเราตีส่วนผสมเค้กเสร็จแล้ว จะได้เทใส่พิมพ์แล้วนำเข้าอบทันที
เทคนิคที่ 6 รีบนำเข้าเตาอบ
- เมื่อผสมส่วนผสมเสร็จแล้วให้รีบนำเข้าเตาอบทันที ถ้าทิ้งไว้นานก่อนนำเข้าอบ จะทำให้ได้เนื้อเค้กหยาบหลังอบสุก เพราะผงฟูกับส่วนผสมอื่น ๆ เริ่มทำงานอย่างเต็มที่ การนำเข้าอบทันที จะช่วยให้สารเสริมคุณภาพของเค้กทำงานได้เต็มที่ในเตาอบได้ดีกว่า
เทคนิคที่ 7 การกระแทกพิมพ์ก่อนอบ
- เค้กเนยมีโครงสร้างที่แข็งแรง และยุบตัวยากกว่าเนื้อสปันจ์กับชิฟฟ่อน ดังนั้น สามารถกระแทกพิมพ์ไล่อากาศออกแรง ๆ ได้ ไม่ต้องกลัวว่าเค้กจะยุบตัวหลังอบ หรือระหว่างอบ
เทคนิคที่ 8 ตำแหน่งการวางเค้กในเตาอบ
- การวางพิมพ์อบเค้กให้อยู่กึ่งกลางของเตาอบ ไม่วางชิดด้านใดด้านหนึ่งหรือติดผนังเตาอบ และไม่แอบเปิดดู หรือย้ายเค้กที่อบอยู่ เพราะจะทำให้เค้กยุบตัว,อุณหภูมิในเตาอบไม่คงที่ แต่อย่าลืมที่จะเตรียมเตาอบให้พร้อมก่อนนำเค้กเข้าอบประมาณ 10-15 นาที
เทคนิคที่ 9 การอุ่นเตาอบ
- การอุ่นเตาอบไม่ได้ที่ใช้อุณหภูมิต่ำไป จะทำให้เนื้อเค้กหด และได้เค้กเนื้อหยาบและถ้าอุณหภูมิสูงเกินไป เค้กจะหน้านูนและหน้าแตก ผิวด้านนอกหนา เค้กแน่น และขนาดเล็ก และหลังจากที่เราอบเค้กสุกแล้วไม่ควรทิ้งเค้กไว้ในเตาอบ เนื่องจากจะทำให้เนื้อเค้กแห้ง เค้กหดตัว ขนาดเล็กลง เพราะความชื้นหายไปนั่นเอง
และนี่คือ 9 เทคนิคสำคัญในการทำบัตเตอร์เค้ก ลองนำไปปรับใช้ดูนะคะ เนื้อหาทั้งหมดนี้ทรายค้นคว้ามาแล้วนำมาเล่าให้ทุกคนฟังนะคะ ซึ่งหลัก ๆ จะเป็นทฤษฎีหรือหลักการที่เราต้องทำ และทั้งนี้เราเองต้องลงมือฝึกฝนในการทำด้วย เพราะนั้นจะทำให้เรามีทักษะเพิ่มขึ้น และไม่ใช่แค่นั้นเราจะมีเทคนิคที่เป็นแบบของเราเองด้วย เพราะเกิดจากการเรียนรู้ข้อผิดพลาดของตัวเองที่เกิดขึ้นค่ะ
และหากลองอับเค้กเนย(Butter cake) แล้วเกิดปัญหาเช่น เค้กแห้ง เค้กเป็นไต เค้กหน้าแตก ฯลฯ เข้าไปเช็คสาเหตุและวิธีการแก้ไขได้ที่โพสต์
8 สาเหตุอะไรบ้างที่ผิดพลาดกับการทำบัตเตอร์เค้ก
และถ้าทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้ชอบเนื้อหา และเป็นประโยชน์กับตัวคุณเองหรือเพื่อน ๆ ที่กำลังฝึกหัดทำขนม สามารถกดติดตามและกดแชร์บทความนี้ให้กับเพื่อน ๆ ของทุกคนได้นะคะ หากมีข้อสงสัยเพิ่มสามารถคอมเม้นท์ เพื่อเป็นกำลังใจหรือเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นค่ะ และเราจะกลับมาพบกันใหม่ในตอนหน้า สำหรับใครที่สนใจเรียนทำขนมเค้ก หรือขนมอบสไตล์โฮมเมด สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คอร์สเรียน และอัพเดตรายการใหม่ ๆ ได้ทุกวันพุธตั้งแต่เวลา 18.17 น.เป็นต้นไป ที่ช่องทาง YouTube หรือได้ทาง Facebook ของทางครูทรายได้เช่นกันค่ะ