Menu Close

บัตเตอร์เค้ก (วิธีผสมแบบใช้เอสพี) – Butter cake use SP

การผสมบัตเตอร์เค้กมีหลากหลายวิธี แต่วิธีนี้จะใช้วิธีการผสมแบบขั้นตอนเดียว และใช้สารเสริมเอสพีในการทำ ซึ่งการใช้สารเสริมเอสพีจะเหมาะกับเค้กที่มีส่วนผสมไข่เป็นหลัก เพราะสารเสริมเอสพีจะช่วยให้ส่วนผสมของไข่ไก่ ไขมัน และของเหลว รวมตัวกันได้ดี

ที่จริงการใช้สารเสริมในเค้กที่เหมาะกับบัตเตอร์เค้ก ต้องใช้สารเสริมคุณภาพเค้กที่มีชื่อว่า “โอวาเล็ต” เพราะจะช่วยให้ส่วนผสมมีปริมาตรที่ดี และทำให้เนื้อนุ่ม ฟู เบา และช่วยให้ลดระยะเวลาในการทำงานลดลงด้วย

ส่วนผสม

  • แป้งเค้ก 200 กรัม
  • ผงฟู 1/4 ช้อนชา
  • เนยสด 220 กรัม
  • เกลือ 1/2 ช้อนชา
  • น้ำตาลทราย 130 กรัม
  • ไข่ไก่ 4 ฟอง
  • นมผง 50 กรัม
  • เอสพี (SP) 20 กรัม
  • น้ำเปล่า 80 ml.
  • กลิ่นวานิลา 1 ช้อนชา

ขั้นตอนการเตรียม

  • 1.นำส่วนผสมของน้ำเปล่า,ไข่ไก่,น้ำตาลทราย และกลิ่นวานิลา ใส่โถตีเตรียมไว้ ส่วนเอสพีให้ป้ายที่หัวตีรูปตะกร้อ ระหว่างนี้ให้นำเนยสดไปละลายในไมโครเวฟ แล้วพักทิ้งไว้ให้พออุ่น ๆ
  • 2.ตีส่วนผสมให้เข้ากันด้วยความเร็วปานกลาง และหมั่นเช็คส่วนผสมที่ก้นโถ ดูว่าเอสพีที่เราใส่ไปนั้นละลายเข้ากับส่วนผสมอื่น ๆ ทั้งหมดแล้วหรือยัง
  • 3.เมื่อได้ส่วนผสมที่ตีจนขึ้นฟูจนทิ้งริ้วตะกร้อแล้ว ให้ใส่แป้งและของแห้งทั้งหมดลงไป ขั้นตอนนี้ใช้ความเร็วต่ำในการผสม เมื่อแป้งเข้ากับส่วนผสมอื่น ๆ ดีแล้วจึงปรับระดับความเร็วปานกลางอีกครั้ง และใช้เวลาตีส่วนผสมต่อไปอีกประมาณ 1-2 นาที จึงปรับเป็นความเร็วต่ำสุดของเครื่อง เพื่อตัดฟองอากาศของเนื้อเค้ก ก่อนนำไปเทใส่พิมพ์อบที่เตรียมไว้

ขั้นตอนการขึ้นรูป

  • 1.ใช้พิมพ์เค้กโลฟในการอบ ขนาด 1 ปอนด์ เตรียมพิมพ์โดยทาเนยขาวให้ทั่วพิมพ์ และปูด้วยกระดาษไขรองอบที่ก้นพิมพ์
  • 2.เทเนื้อเค้กใส่ลงไปประมาณ 3/4 ของพิมพ์ และใช้ไม้ปลายแหลมจิ้มวนไปในเนื้อเค้ก ก่อนจะนำเข้าอบ เพื่อตัดฟองอากาศครั้งสุดท้าย จะช่วยให้เนื้อบัตเตอร์เค้กเนียนละเอียด ฟองอากาศหลังอบน้อย ดูน่ารับประทานมากขึ้น

ขั้นตอนการอบ

  • 1.อบที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการอบประมาณ 40-45 นาที หรือจนกว่าเค้กจะสุก
  • 2.เมื่อเค้กสุกแล้วให้นำออกจากพิมพ์อบทันที เพื่อป้องกันความชื้นและไอน้ำเกาะที่ตัวเค้ก ซึ่งจะทำให้เค้กเสียเร็ว จากนั้นพักทิ้งไว้ให้เย็นสนิท ก่อนนำไปใส่บรรจุภัณฑ์ที่เตรียมไว้ หรือนำไปใช้งานอย่างอื่นต่อไป

Tip:

  • 1.การปรับความเร็วต่ำสุดในช่วงสุดท้ายของการผสมเนื้อเค้ก จะช่วยให้เนื้อเค้กเนียนและฟองอากาศที่อยู่ในเนื้อเค้กไม่ใหญ่มาก ทำให้ดูน่ารับประทานมากขึ้น วิธีการที่นอกเหนือจากการใช้ไม้ปลายแหลม และลดความเร็วของเครื่องผสมอาหารให้ต่ำสุดนั้น ยังสามารถใช้การกระแทกพิมพ์อบขนมเบา ๆ 2-3 ครั้งก่อนนำเค้กเข้าอบ แต่การกระแทกพิมพ์จะทำได้แค่กับบัตเตอร์เค้กเท่านั้น ไม่เหมาะกับสปันจ์เค้ก และชิฟฟ่อนเค้ก เพราะจะทำให้โครงสร้างของเนื้อเค้กยุบตัวได้
  • 2.การใช้เนยละลายแบบอุ่น ๆ จะช่วยให้การผสมเนื้อเค้กทำได้อย่างราบรื่น เพราะผสมเข้ากันง่ายและไม่ทำให้ระยะเวลาในการผสมเนื้อเค้กนานเกินไป หากผสมนานเกินไปจะทำให้เนื้อเค้กเหนียว หนัก และแน่น ซึ่งเกิดจากกลูเตนที่อยู่ในแป้งจากการตะล่อม ที่รวมตัวกับของเหลวในส่วนผสมนั่นเอง

คำถามที่หลังอบ:

1.ทำไมต้องป้ายเอสพีที่หัวตีตะกร้อ ใส่ลงไปในของเหลวพร้อมกันได้ไหม?

  • การป้ายเอสพีที่หัวตีตะกร้อ จะช่วยให้เอสพีรวมกับส่วนผสมอื่น ๆ ทั้งหมดได้ง่ายกว่า และทำให้สามารถเช็คส่วนผสมที่อยู่ก้นโถได้ง่ายกว่าใส่ลงไปพร้อมกับของเหลวอื่น ๆ และที่หัวตียังช่วยกระจายเอสพีเป็นเม็ดเล็ก ๆ ง่ายต่อการผสมด้วย

2.EC25K ทำไมถึงเหมาะกับการทำบัตเตอร์เค้กมากที่สุด?

  • อีซี 25 เค ลักษณะเป็นครีมสีขาวอมเหลือง นิยมใช้กับเค้กที่มีไขมันสูง ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยให้ของเหลวและไขมันรวมตัวเข้ากันได้ดี และไม่ทำให้เกิดการแยกชั้นในระหว่างขั้นตอนการผสม ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้คือ ทำให้เนื้อเค้กนุ่ม ฟู เบา และเนื้อละเอียด จึงเหมาะมากกว่าเอสพีที่ผลิตมาเพื่อใช้กับเค้กที่มีไข่ไก่เป็นโครงสร้างหลัก

3.บัตเตอร์เค้กทำไมมีเนื้อหยาบหลังจากที่อบสุกแล้ว?

  • เพราะหลังจากที่ตีส่วนผสมของเนื้อเค้กเสร็จแล้ว ไม่รีบนำเค้กเข้าอบทันที อาจจะเกิดการวางแผนการทำงานที่ผิดพลาด เช่น ไม่ได้อุ่นเตาเตรียมไว้ให้ได้อุณหภูมิที่ต้องการ ทำให้ต้องรออุณหภูมิของเตาอบที่ได้ที่ เลยทำให้ต้องรอเวลาทิ้งเค้กไว้นานก่อนอบ เลยทำให้เนื้อเค้กหยาบหลังจากอบสุกแล้ว

4.อบบัตเตอร์เค้กทีไรหน้าเค้กแตก เนื้อเค้กก็แห้ง และด้านนอกของเค้กเปลือกหนักและหนาเป็นเพราะอะไร?

  • เกิดจากสูตรที่ไม่สมดุล เพราะมีปริมาณแป้งมากเกินไป หรืออีกอย่างนึงเกิดจากอุณหภูมิในเตาอบร้อนเกินไป ทำให้เปลือกเค้กด้านนอกสุกแต่ข้างในยังเหลว จนเกิดไอน้ำและถูกดันขึ้นด้านบนส่งผลให้หน้าเค้กแตก
  • ใช้พิมพ์อบขนาดเล็กเกินไป เช่น น้ำหนักของเนื้อเค้กที่ได้มีขนาด 2 ปอนด์ แต่นำพิมพ์อบขนาด 1 ปอนด์มาใส่ ดังนั้น ก่อนนำเค้กเข้าอบให้เตรียมพิมพ์อบก่อนเสมอ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในขั้นตอนการผลิต

สามารถติดตามและอัพเดตเมนูขนมใหม่ ๆ ได้ทุกวันพุธ และวันอาทิตย์ ที่ช่องทาง YouTube ตั้งแต่เวลา 18.17 น.เป็นต้นไป ดูรายละเอียดการทำขนมได้ที่หน้าเว็ปไซต์ของเราที่หน้า คอร์สเรียน หรือติดตามกันอย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งโปรโมชั่นคอร์สเรียนทำขนมอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Facebook และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือจองคอร์สเรียนทำขนมกับครูพี่ทรายได้ที่ Line

Related Posts

Leave a Reply