Menu Close

เค้กแป้งข้าวเจ้า – Rice flour Cake (เค้กกลูเตนฟรี)

เหตุผลของคลิปนี้มีอยู่ว่า “แป้งข้าวเจ้า” ที่บ้านนั้นเยอะมาก ซื้อมาเก็บไว้จนจะกลายเป็นปุ๋ย เลยทำการบางอย่างให้บังเกิดขึ้น และนั่งคิด นอนคิด จนได้ข้อสรุปว่า “แป้งข้าวเจ้า” นั้นทำเมนูอะไรได้บ้าง?

คลิปนี้ทรายขอนำเสนอเมนู เค้กแป้งข้าวเจ้า ซึ่งนอกจากจะบังเกิดของเมนูนี้ขึ้นมาแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวของทรายด้วย ที่ทรายพยายามค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องวัตถุดิบ ที่จะนำมาทำเป็นขนม (สำหรับตัวเอง) ก่อนเบื้องต้น ก็เลยคิดว่าจะต่อยอดเป็นเมนูอื่น ๆ นะคะ

ส่วนผสม

  • ไข่ไก่ 4 ฟอง
  • นมสด 120 ml.
  • น้ำมันรำข้าว 30 ml.
  • แป้งข้าวเจ้า 150 กรัม
  • เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
  • กลิ่นวานิลา 1 1/2 ช้อนชา
  • ครีมออฟทาร์ทาร์ 1/2 ช้อนชา
  • น้ำตาลทราย 80 กรัม

ขั้นตอนการเตรียม

  • 1.นำไข่แดงใส่ลงในชามอ่างผสม น้ำมันพืช และแต่งกลิ่นวานิลา ส่วนนมสด และเกลือป่นผสมให้เข้ากัน แล้วเทใส่ลงไป
  • 2.จากนั้นใส่แป้งข้าวเจ้าลงไปในส่วนผสมของไข่แดง และคนส่วนผสมให้เข้ากัน ระวังอย่างคนส่วนผสมนาน เพราะจะทำให้เค้กเหนียว
  • 3.ตีไข่ขาว กับครีมออฟทาร์ทาร์ จากนั้นค่อย ๆ ใส่น้ำตาลลงไปทีละน้อยจนหมด ตีจนตั้งยอด แล้วนำส่วนผสมของไข่ขาว มาตะล่อมกับส่วนผสมไข่แดง

ขั้นตอนการขึ้นรูป

เมื่อส่วนผสมรวมกันเป็นเนื้อเดียวแล้ว ตักส่วนผสมใส่กระทงกระดาษแบบจีบ ประมาณ 3/4 ของกระทงกระดาษ ตีจนตั้งยอด แล้วนำส่วนผสมของไข่ขาว มาตะล่อมกับส่วนผสมไข่แดง

ขั้นตอนการอบ

  • 1.นำเข้าอบที่ 160 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการอบ 25-30 นาที หรือจนกว่าสุกเหลือง
  • 2.เมื่อขนมสุกแล้วนำออกจากพิมพ์อบ พักทิ้งไว้บนตะแกรงให้เย็นสนิท จะเสิร์ฟตอนร้อน หรือตอนเค้กเย็นแล้วก็ได้

Tip:

  • 1.เค้กแป้งข้าวเจ้าสูตรนี้ไม่มีส่วนผสมของผงฟู ดังนั้น ข้อควรระวังในขั้นตอนการตะล่อมส่วนผสมของไข่ขาว และไข่แดง ควรทำด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้เค้กเกิดความนุ่ม ฟู และเบา เพราะขั้นตอนนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญของการเก็บอากาศไว้ในเนื้อเค้ก ก่อนที่จะนำเข้าเตาอบ
  • 2.ไม่คนส่วนผสมนาน นอกจากเค้กแป้งข้าวเจ้าจะยุบตัวแล้ว ยังทำให้เนื้อเค้กหลังอบเหนียว แข็งกระด้าง ไม่ขึ้นฟู

สาระน่ารู้ช่วงท้ายกับ “เค้กแป้งข้าวเจ้า”

กลูเตน (Gluten) เป็นภาษาละตินที่มีรากศัพท์ของคำว่า “glue” ซึ่งแปลว่า “กาว” เนื่องจากกาวตัวนี้เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่เชื่อมส่วนผสมของอาหารไว้ด้วยกัน มีลักษณะเหนียว ยืดหยุ่น และไม่ละลายน้ำ ทำให้อาหารคงรูปร่างและจับตัวเป็นก้อน ซึ่งจะอยู่ในแป้งสาลี,ข้าวไรย์,ข้าวสเปลท์,ข้าวบาร์เลย์ และอื่น ๆ อีก

แล้วเค้กแป้งข้าวเจ้าในคลิปนี้เรียกว่าเป็นเมนู “กลูเตนฟรี” ได้ไหม คำตอบคือ ได้ และเมนูนี้ก็เหมาะกับ “คนที่แพ้กลูเตน” ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบการย่อยอาหาร มีชื่อโรคด้วยคือ “โรคเซลิแอค” เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง การแพ้กลูเตน หรือภาวะไวต่อกลูเตน ทำให้ร่างกายตอบสนองที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุลำไส้เล็กทำให้ไม่สามารถดูดซึมอาหาร แร่ธาตุและวิตามินได้อย่างเต็มที่ ก็จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคกระดูกพรุน หรือโรคอื่น ๆ แต่อาการการแพ้กลูเตนมีหลายกลุ่มด้วยนะคะ แต่ที่เราจะนึกออกได้พอพูดถึงเรื่อง “กลูเตนฟรี” ก็จะนึกได้ว่าเป็นเมนูที่เหมาะกับคนแพ้กลูเตนโดยเฉพาะ

มี แป้งกลูเตนฟรี หลายตัวด้วยนะคะ อาจจะมาในรูปแบบของการผสมแป้งข้าวโพด,แป้งข้าวเจ้า,แป้งมันฝรั่ง,แป้งมันสำปะหลัง,แป้งถั่วเหลือง,แป้งข้าวโอ๊ต,แป้งกล้วย,แป้งมะพร้าว,แป้งอัลมอนด์,แป้งควินัว และยังมีอีกเยอะ ซึ่งการผสมแป้งเหล่านี้ ก็เพื่อช่วยเสริมโครงสร้างให้แป้งมีการอุ้มน้ำและน้ำตาลได้มากขึ้น และทำให้ขนมที่ได้นั้นมีคุณภาพใกล้เคียงกับขนมที่ทำจากแป้งสาลี มีบางช่วงที่อาหารปราศจากกลูเตนได้กลายเป็นอาหารยอดนิยม ในประเทศแถบยุโรปและที่อื่น ๆ แต่ก็จะมีข้อจำกัดในทางการแพทย์ด้วย หากรับประทานอาหารที่ปราศจากกลูเตนมากเกินไป ก็อาจจะกลายเป็นขาดสารอาหารได้ จำพวกธาตุเหล็กและวิตามินบีลดลง แต่กลับทำให้ปริมาณน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูงขึ้น

ดังนั้น จึงมีการกำหนดการรักษาเรื่องการรับประทานอาหารที่ปราศจากกลูเตน เฉพาะคนบางกลุ่มที่เป็น “โรคเซลิแอค” ซึ่งอาการแพ้กลูเตนก็มีแบบคลาสสิค คืออาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วงเรื้อรัง และท้องอืด และอาการที่ไม่ใช่อากาศคลาสสิค แต่อาการอย่างหลังจะเกิดขึ้นในเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้น การรับประทานอาหารปราศจากกลูเตนตลอดชีวิต จึงเป็นเรื่องเฉพาะทางการแพทย์ที่ให้การยอมรับกับผู้ป่วย “โรคเซลิแอค” ซึ่งจะให้ใช้วิธีนี้วิธีเดียวในการรักษาโรค

สำหรับเราผู้ที่ร่างกายปกติอยากจะกิน ขนมหรืออาหารที่ปราศจากกลูเตนบ้าง ทำได้อย่างไร? อาจจะเลือกกินเป็นบางมื้อ หรือช่วงควบคุมอาหารบางอย่างก็ได้ค่ะ แต่ข้อควรระวังสำหรับคนที่แพ้กลูเตนจริง ๆ จะต้องระวังเรื่องขนมปังและเบเกอรี่ เพราะถ้าหากมีการปนเปื้อนกลูเตนในอาหารก็อาจจะทำให้เกิดอาการท้องร่วง หรือท้องอืด ซึ่งเป็นอาการคลาสสิคสำหรับคนที่แพ้กลูเตน ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารเฉพาะโรค ที่เราต้องให้ความสนใจและหลีกเลี่ยง ก็อย่าลืมที่จะสังเกตที่ฉลากโภชนการข้างกล่อง หรืออ่านส่วนผสมที่อยู่ในอาหารนั้นให้ชัดเจนก่อนจะซื้อมารับประทานกันนะคะ

ติดตามเมนูใหม่ ๆ กับครูทรายได้ทุกวันพุธ และรายการอื่น ๆ ที่ช่อง Youtube: Wares Sine หรืออัพเดตข่าวสาร โปรโมชั่นใหม่ ๆ ได้ที่ Facebook ของครูทรายได้เลยค่ะ หรือสนใจคอร์สเรียนทำขนมกับครูทราย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ คอร์สเรียน ได้เลยค่ะ

Leave a Reply